สังเกตกันไหมว่า เดี๋ยวนี้หลายบริษัทเริ่มมีสแน็คบาร์ มีเลี้ยงข้าวกลางวันพนักงานกันมากขึ้น พี่กล้วยจะพาไปดูสาเหตุค่ะว่าเพราะอะไร และบริษัทจะได้อะไรกลับไปจากสวัสดิการนี้บ้างหรือเปล่า?
ผลสำรวจของ สมาคมเพื่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (The Society for Human Resource Management) ซึ่งมีสมาชิกเป็น HR และฝ่ายบริหาร กว่า 300,000 คน จาก 165 ประเทศ เผยว่า ช่วงปี 2014-2017 อัตราของบริษัทที่มีสวัสดิการอาหาร สแน็ค และเครื่องดื่ม อยู่ที่ราวๆ 20% โดยแทบไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากนักในแต่ละปี จนกระทั่งในปี 2018 กราฟก็พุ่งขึ้นมาสูงถึงกว่า 30% อย่างน่าสนใจ
ปี 2018 คือช่วงที่คน Gen Z กลายมาเป็น First Jobber (คนเกิดปี 1996 อายุ 22 ปีพอดี) และทำให้สัดส่วนของคนรุ่นใหม่ในที่ทำงานทั้ง Gen Y และ Gen Z มีมากขึ้น ความคาดหวังในองค์กรของคนเหล่านี้เปลี่ยนไปจากคนรุ่นเก่ามาก คนรุ่นใหม่มีความผูกพันธ์กับองค์กรน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตพนักงาน ก็สามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรได้เป็นอย่างดี… นี่จึงอาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สวัสดิการอาหารได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความใส่ใจที่บริษัทมีต่อพนักงาน อาหารฟรีช่วยทั้งประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ลดความเหนื่อยล้า และเพิ่มความสุขจากช่วงเวลาพักผ่อนที่มีมากขึ้นนั่นเอง
“แต่ประโยชน์ของสวัสดิการอาหาร
ไม่ได้มีแค่ดึงดูดใจพนักงาน
นี่คือการลงทุนที่อาจให้กำไรกับบริษัทเลยก็ได้”
-
ทำให้พนักงานอยู่ในบริษัทนานขึ้น วันละ 30 นาที
เงินที่บริษัทได้กลับมา อาจมากกว่าค่าอาหารที่จ่ายเสียอีก เพราะเมื่อมีอาหารให้ทาน พนักงานมักจะใช้เวลาพักเที่ยงน้อยลง หรือแม้จะใช้เวลาพักเต็มที่ 1 ชั่วโมง พวกเขาก็ยังกลับมาทำงานช่วงบ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะรู้สึกว่าได้พักเต็มที่ จากการไม่ต้องออกไปหาซื้ออาหารและรอคิว
ยิ่งหากบริษัทมีทั้งอาหาร ขนมเล็กๆน้อยๆ ชา กาแฟ ฯลฯ ก็จะทำให้พนักงานไม่ต้องออกไปข้างนอกบ่อยๆ พวกเขาจึงมีเวลาทำงานมากขึ้นอย่างน้อยก็วันละ 30 นาที
อีกกลุ่มพนักงานที่น่าสนใจคือ กลุ่มพนักงานออกบูธ ออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เวลาของพวกเขาเป็นเงินเป็นทองเลยก็ว่าได้ เพราะออกบูธครั้งนึง บริษัทต้องเสียทั้งค่าเช่า ค่าอุปกรณ์ และถ้าพนักงานมีเวลาพบปะลูกค้ามาก โอกาสทำเงินให้คืนกลับมาก็ยิ่งมาก ซึ่งการพักทานอาหารในงานแบบนี้ก็เป็นปัญหามากทีเดียว เพราะสถานที่จัดงานมักอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ เดินไกล หาร้านอาหารยาก การที่บริษัทจัดเตรียมอาหารกลางวันให้ จึงจะช่วยทั้งอำนวยความสะดวกให้พนักงาน และส่งผลกำไรคืนกลับมาให้บริษัทเองค่ะ
-
สัดส่วนของพนักงานที่พอใจกับงาน สูงกว่าในบริษัทที่ไม่มีอาหารฟรี 10%
ผลสำรวจความสุขในที่ทำงานพบว่า ในบริษัทที่ไม่มีอาหารฟรีนั้น 56% ของพนักงานบอกว่าพอใจกับงานมาก ส่วนในบริษัทที่มีอาหารฟรีจะอยู่ที่ 67%
แน่นอนว่าความสุขของพนักงานช่วยลดอัตราการออกจากงานได้ และการลาออกแต่ละครั้งทำให้บริษัทต้องเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการหาพนักงานใหม่ ต้องมีทั้งการสัมภาษณ์ เทรนงาน ปรับตัว ดังนั้นพนักงานที่มีความสุขจึงเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ลดลงด้วย
-
เป็นการสานสัมพันธ์ที่ใช้งบน้อย
ความสัมพันธ์ที่ดีในบริษัทช่วยทั้งเพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดอัตราการออกจากงาน แต่ปกติ HR หรือเจ้าของบริษัทมักจะนึกถึงแต่การเอาท์ติ้ง หรือจัดปาร์ตี้ ซึ่งไม่สามารถทำได้บ่อยๆ ในขณะที่การทานข้าวด้วยกันนั้นคือวิธีสานสัมพันธ์ที่ง่ายที่สุด ทำได้บ่อย และใช้งบประมาณน้อยอีกด้วยค่ะ
ยิ่งในปัจจุบันที่มีการ Work from home มากขึ้น พอถึงเวลามาบริษัทก็แยกกลุ่มกันไปทานข้าว บางคนนำอาหารมา บางคนสั่งเดลิเวอรี ดังนั้นการเลี้ยงอาหารนี่แหละจะช่วยรวมทุกคนเข้าด้วยกัน และสร้างปฏิสัมพันธ์ให้ดีมากยิ่งขึ้น
พี่กล้วยขอสรุปเลยว่า.. การเลี้ยงอาหารพนักงาน เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ทำได้ง่ายที่สุด และให้ประโยชน์มากกว่าที่หลายคนคิด ถ้าบริษัทไหนเริ่มอยากทดลองมีสวัสดิการอาหารบ้าง อาจเริ่มจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างกาแฟ ขนมขบเคี้ยว ก่อนก็ได้นะ แล้วลองมาสังเกตกันว่าคุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในบริษัทบ้าง… พี่กล้วยเชื่อว่ามันต้องคุ้มค่าแน่นอนค่ะ