พบกับ "วารสารรู้งาน" ประจำเดือน มีนาคม-เมษายน ในหัวข้อ หน้าร้อนปีนี้ ไปไหนดี ร่วมงานสงกรานต์ทั่วไทย | Let's Celebrate Songkran Festivals Organised Naionwide ที่มีเนื้อหาสาระอัดแน่นไปด้วยประโยชน์แวดวง MICE ซึ่งประกอบด้วย การประชุม (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) การประชุมนานาชาติ (Conventions) และการแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions)
(ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดทั้งหมด หรือดาวน์โหลดวารสารได้ที่ link ด้านล่าง)
3 แอปพลิเคชันยอดฮิต โดนใจนักเดินทางในประเทศอาเซียน
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีผลอย่างมากกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เพราะมีแอปพลิเคชันที่อำนวยความสะดวกมากมาย และยังสามารถเข้าถึงได้ในหลายประเทศอีกด้วย ฉบับนี้ คอลัมน์ Event Banana จะมาแนะนำแอปฯ ที่สามารถใช้งานได้ในประเทศภูมิภาคอาเซียน1. ทราเวลโลก้า - Traveloka
จากสตาร์ทอัพมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ สู่แอปพลิเคชันดาวรุ่งที่มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านเหรียญ (หรือประมาณกว่าหมื่นล้านบาท) จุดเริ่มต้นของ ทราเวลโลก้า มาจาก Ferry Unardi ชายหนุ่มชาวอินโดนีเซียที่ไม่สามารถค้นหาเที่ยวบินเดินทางจากบ้านถึงเมืองบอสตันที่เขาเรียนอยู่ได้ จึงเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ที่รวบรวมทุกสายการบินขึ้นมา ก่อนจะพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถทำการจองได้ทั้งเที่ยวบินและที่พักในครั้งเดียว
ปัจจุบันทราเวลโลก้าเปิดให้บริการในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ไทย และออสเตรเลีย โดยมีข้อมูลทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงที่พักในท้องถิ่นของแต่ละประเทศดังกล่าวอีกด้วย
2. แกร็บ - Grab
เริ่มแรก แกร็บ เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการเรียกรถแท็กซี่ในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันจดทะเบียนบริษัทที่สิงคโปร์และขยายฐานการให้บริการครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า และกัมพูชา
นอกจากบริการเรียกรถรับส่งและสั่งอาหารเดลิเวอรี่แล้ว แกร็บ ยังมีบริการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่เชียงใหม่มีบริการแกร็บรถแดง ที่พม่ามีบริการ GrabThoneBane เรียกรถสามล้อรับจ้าง หรือที่สิงคโปร์ก็มีบริการรับฝากสัตว์เลี้ยงเดินเล่นอีกด้วย ซึ่งบริการทั้งหมดนี้ สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเดินทางไปถึงประเทศนั้นๆ โดยไม่ต้องติดตั้งเพิ่มเติม
3. แอร์เพย์ - AirPay
หนึ่งในบริการสำคัญของการีน่า (Garena) จากสตาร์ทอัพด้านเกมส์ออนไลน์ สู่แอปพลิเคชัน FinTech แบบครบวงจร สำหรับ แอร์เพย์ ในประเทศไทยนั้น เปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยจุดเริ่มต้นเป็นบริการ E-Walllet สำหรับเติมเงินเข้าสู่เกมออนไลน์ แต่ในปัจจุบันสามารถซื้อบัตรภาพยนตร์ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ชำระบิลต่างๆ รวมถึงบริจาคให้กับมูลนิธิได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แอปฯ ได้ในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไต้หวัน โดยใช้ค่าเงินที่เติมในวอลเลทของแอปฯ ได้เลย ไม่ต้องเติมเงินเพิ่มอีก หรือจะหักผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีก็ได้
ทั้ง 3 แอปพลิเคชันที่คอลัมน์ Event Banana เลือกมานำเสนอในฉบับนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจสตาร์ทอัพและเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถเปิดให้บริการได้ในหลายประเทศ อีกทั้งยังใช้งานได้ทันที ไม่ต้องติดตั้งเพิ่มเติม ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่เดินทางทำธุรกิจหรือเดินทางระหว่างประเทศบ่อย สำหรับฉบับหน้าเราจะมีเรื่องราวใดที่น่าสนใจมานำเสนอโปรดติดตาม MICE Guru by TCEB ฉบับต่อไป
ผู้อ่านสามารถอ่านวารสารรู้งานเล่มอื่นๆ ได้ที่นี่
เล่มที่ 1 (ก.ค. - ส.ค. 2561): ธุรกิจไมซ์ไทยสดใส สร้างงาน สร้างเงิน สร้างชาติ
เล่มที่ 2 (ก.ย. - ต.ค. 2561): ไมซ์ไทย ธุรกิจดาวรุ่งพุ่งเป้า "ศูนย์กลางการจัดงานแห่งเอเชีย"
เล่มที่ 3 (พ.ย. - ธ.ค. 2561): ส่งท้ายปี มหกรรมงานไมซ์สู่ทุกภูมิภาค
เล่มที่ 4 (ม.ค. - ก.พ. 2562): 7 มุมใหม่ สไตล์ไมซ์ไทย
เล่มที่ 6 (มี.ค. - เม.ย. 2562): 5 บริการอาหารถึงที่ทำงาน แม้ในหน้าฝนของวันประชุมเร่งด่วน